ผลงานทางโหราศาสตร์
- พัฒนาโปรแกรมโหราศาสตร์คำนวณระบบคัมภีร์สุริยยาตร์ เผยแพร่เป็นวิทยาทานตั้งแต่ปี พ.ศ.2545
- ศึกษาและวิจัยสูตรคำนวณคัมภีร์สุริยยาตร์และโหราศาสตร์ภาคคำนวณทุกระบบในประเทศไทย
- ผลิตคู่มือโปรแกรม Suriyayatra - สุริยยาตรา:โปรแกรมสาลัทธ์สนเทศโหราศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นคู่มือการใช้โปรแกรมโหราศาสตร์ไทยฉบับแรกของไทย(และอาจเป็นฉบับเดียวในโลก) ซึ่งอธิบายการใช้โปรแกรมทุกขั้นตอน ชัดเจนไม่คลุมเคลือ
-เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ์พระบาทพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๔ เนื่องในวโรกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ ๒๐๐ ปี วันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ ของ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ ร่วมกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยและมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์
ประวัติการศึกษาโหราศาสตร์
เริ่มศึกษาด้วยตนเองจากกร๊าฟชีวิต, เลข 7 ตัว,ตำราต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยู่ ม.ปลาย ทายถูกบ้างผิดบ้าง
ปี 2536 พบบทความของท่านอาจารย์อรุณ ลำเพ็ญ ในพยากรณ์สาร ตอน ดาวลอย ยังจำชื่อหมอเถา(วัลย์) หลวงตาชื้นและครูก้อนได้ขึ้นใจ เดือนเมษายน 2537 ไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้หนังสือโฮ๋ราสาดของหมอเถา(วัลย์)สำนักพิมพ์สาวิตา ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2522 ได้นำมาศึกษาจริงจังตอนเรียนปริญญาตรี ทำให้สนใจวิชาโหราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการผูกดวง ดูดาว เริ่มศึกษาด้านนี้ด้วยตนเอง มีความคิดที่จะเรียนกับอาจารย์หมอเถา(วัลย์) โดยตั้งใจที่จะส่งจดหมายไปสอบถามกับท่าน พ.ศ.2538 ที่หอสมุดแห่งชาติ ผมทราบจากหนังสือมรดกแห่งโหรสยามของสมาคมโหรฯว่า อาจารย์อรุณ ลำเพ็ญหรือหมอเถา(วัลย์)นั้น ท่านได้เสียชีวิต พ.ศ.2534 ทำให้ความหวังที่จะเรียนโหราศาสตร์อย่างจริงจังพลอยหายไป แต่ยังพยายามค้นคว้าในระบบที่คล้าย ไม่ได้ไปเรียนจริงจังเพราะยังเรียนอยู่ในระดับปริญญาตรี ปี 2530 ได้หนังสือดูดวงด้วยตนเอง ของ อ.จรัล พิกุล และของ อ.อรุณ ลำเพ็ญ ปี2537-2541 ทำให้สนใจค้นคว้าอย่างมากตอนเรียนปริญญาตรี วิ่งเข้าวิ่งออกหอสมุดแห่งชาติ,หอสมุดจุฬา,ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร, ศิลปากรวังท่าพระ, เกษตรที่บางเขน ผมอ่านหนังสือโหราศาสตร์จนแทบจะเป็นวิชาโท และมักขดตัวตามกองหนังสือเก่าๆมากกว่าหนังสือที่พิมพ์ขึ้นรุ่นใหม่ เพราะพบว่าหนังสือรุ่นใหม่ๆในปัจจุบัน เป็นหนังสือแปลจากตำราต่างประเทศหรือลอกหนังสือรุ่นเก่ามา บ้างก็ดัดแปลงเล็กน้อย จึงหันไปค้นหาอ่านหนังสือเก่าๆ,ศิลาจารึก!!! เห็นวิชาไหนที่ น่าจะใช้ได้ ก็อ่านหมด เก็บวิชาทั้งไทย สากล ภารตะ สิบลัคน์ ยูเรเนียนก็เฉียดๆเกือบจะลงไปศึกษาจริงจัง ลายมือ โหง้วเฮ้ง ่ผลสรุปคือ ทำให้ผมทายไม่ได้อยู่ดีเพราะไม่มีหลัก ต้นปี 2544 จึงได้มีโอกาสเรียนวิชาสายหมอเถา(วัลย์)กับท่านอ.โฮ๋าสาดแห่งเวปไซต์พยากรณ์ดอทคอมซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านอ.อรุณ ลำเพ็ญ ได้ติดต่อขอเรียนกับท่าน ท่านก็ยอมสอนให้ โดยท่านก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ให้ไปทำบุญถวายสังฆทานให้กับท่านอ.อรุณ ลำเพ็ญ บ้างตามสมควร ปัจจุบันได้ใช้วิชาโหราศาสตร์ของท่านอ.อรุณ ลำเพ็ญ ประยุกต์กับแบบที่ อ.โฮ๋ราสาด ได้ถ่ายทอดให้เป็นหลักในการพยากรณ์เรื่อยมา
การศึกษาโหราศาสตร์ภาคคำนวณ (คัมภีร์ สุริยยาตร์)
ผมสนใจศึกษาวิธีการคำนวณตำแหน่งของดาวพระเคราะห์ตามหลักคัมภีร์สุริยยาตรแลมานัตต์ พบบทความเรื่อง สุริยยาตร์วิเคราะห์ ของ อ.มานิตย์ ธีระเวชชโรกุล กล่าวถึงที่มาของกฏเกณฑ์ในเบื้องต้น การปรับกฏเกณฑ์เข้าสู่ระบบคณิตศาสตร์ และการปรับใช้กลียุคศักราชคำนวณแทนจุลศักราชแบบดั่งเดิม ค้นคว้าการคำนวณตามแบบตำราดั่งเดิมจากตำราการให้ฤกษ์และการคำนวณดวงชะตาพิชัยสงครามของ อ.สิงฆ์โต สุริยาอารักษ์ และตำราพระสุริยยาตร์และมานัตต์ ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ที่ใช้จุลศักราชเป็นมูลคำนวณและตำราสุริยยาตร์ของ ร.อ.ทองคำ ยิ้มกำภู ซึ่งใช้รัตนโกสินทร์ศกเป็นมูลคำนวณ ศึกษาเพิ่มเติมจากพระคัมภีร์สุริยยาตร์ศิวาคม ของ พ.อ.(พิเศษ)เอื้อน มณเฑียรทอง ซึ่งปรับมาจากสูตรคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของท่านพลตรีบุนนาค ทองเนียม ที่ปรับให้ใช้สำหรับเครื่องคำนวณที่มีฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ ทำให้รูปแบบการคำนวณง่ายขึ้น และสามารถปรับสูตรต่างๆในคัมภีร์สุริยยาตร์ศิวาคม มาปรับใช้กับการคำนวณด้วยสูตรคำนวณในระบบของคอมพิวเตอร์ได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบผลของการคำนวณที่ได้จากการปรับใช้สูตรพระคัมภีร์สุริยยาตร์ศิวาคม ที่ใช้เป็นหลักในการพัฒนาสูตรคำนวณกับปฏิทินโหราศาสตร์ไทยของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว แล้วพบว่ามีความถูกต้องตรงกันทั้งสมผุส ณ เวลาเที่ยงคืนของแต่ละวัน (ณ เวลา 24.00.ท้องถิ่นกรุงเทพฯ) และเวลาดาวพระเคราะห์แต่ละดวงย้ายราศี(ในระดับชั่วโมงนาที) แต่ต้องทำการปรับรูปแบบการคำนวณในบางสูตร เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการคำนวณของพระคัมภีร์สุริยยาตร์ศิวาคม ต้องใช้เวลาในการคำนวณทดสอบมากพอสมควร จึงแน่ใจในสูตรที่พัฒนาขึ้น ต่อมาได้ปรับปรุงและประยุกต์สูตรคำนวณ ของคัมภีร์สุริยยาตร์ขึ้น เพื่อใช้ในโปรแกรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จึงได้เริ่มทำการศึกษาจากคัมภีร์สุริยยาตร์ฉบับต่างๆที่มีเผยแพร่อยู่ในประเทศไทย (เท่าที่ผู้จัดทำรวบรวมได้ไม่ต่ำกว่า 20 ฉบับ และเอกสารอ้างอ้างอื่นๆมากกว่า 100 ฉบับ ) และเริ่มนำมาประยุกต์ใช้ในโปรแกรมโหราศาสตร์ที่ได้พัฒนาขึ้น โดยได้ปรับเกณฑ์เรื่อยมา เนื่องจากพบว่า คัมภีร์สุริยยาตร์ที่ใช้ในการคำนวณตำแหน่งดาวพระเคราะห์ของไทย ซึ่งเป็นแม่บทในการจัดทำปฏิทินโหราศาสตร์ การคำนวณดวงชะตากำเนิดและดวงจรเพื่อการพยากรณ์ ตลอดจนการปรับสูตรมาใช้เพื่อการจัดทำโปรแกรมนั้นมีการศึกษาในลักษณะที่ท่องจำกันแต่เกณฑ์คำนวณ และคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามเลขเกณฑ์นั้นๆ โดยไม่มีการศึกษาที่มาของกฏการคำนวณ และเลขเกณฑ์ต่างๆ อีกทั้งรูปแบบการคำนวณก็ยุ่งยากซับซ้อนมากซึ่งทำให้คำนวณผิดพลาดได้ง่าย จนเป็นสิ่งที่ถูกละเลยที่จะศึกษาสำหรับนักโหราศาสตร์ทั่วไปที่มักจะมุ่งศึกษากันแต่เพียงภาคพยากรณ์ จนกระทั้งเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2545 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมพิธีไหว้ครู ของมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งได้มีโอกาสนำสูตรคำนวณจาก คัมภีร์สุริยยาตร์ฉบับไทยประยุกต์ ที่ผมได้ปรับปรุงขึ้นและได้เผยแพร่ไปแล้วในกระดานปุจฉา-วิสัชนาของเวปพยากรณ์ ให้แก่ท่าน อ.อารี สวัสดี ประธานมูลนิธิสมาคมโหรฯ หลังจากที่ได้แนะนำตัว สนทนากันพอสมควรแล้วและได้มอบเอกสารการศึกษาค้นคว้า ท่านได้ให้ข้อคิดที่สำคัญในการศึกษาคัมภีร์สุริยยาตร์ของไทย และด้านอื่นๆ ทั้งในทางดาราศาสตร์ โหราศาสตร์และพยากรณ์ศาสตร์แก่ผมเป็นอันมาก จึงได้นำข้อคิดอันมีค่านั้น มาปรับปรุงและประยุกต์สูตรคำนวณตามหลักของคัมภีร์สุริยยาตร์ทั้งระบบ จนประสบความสำเร็จเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2546 โดยการปรับสูตร เลขเกณฑ์และขั้นตอน จากคัมภีร์และตำราที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องไม่คลุมเครือจากผู้แต่งคัมภีร์และตำราที่ได้รับการยอมรับในวงการโหราศาสตร์ไทย คือ
๑)คัมภีร์สุริยยาตร์และมานัตต์ และคัมภีร์สารัมภ์รามัญศาสตร์ ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) บุคคลท่านแรกที่ทำการค้นคว้าเรียบเรียง และเผยแพร่สูตรคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์และมานัตต์ คัมภีร์สารัมภ์รามัญศาสตร์ ตลอดจนคัมภีร์โหราศาสตร์อื่นๆ ทั้งภาคคำนวณ ภาคพยากรณ์ และภาคพิธีกรรม ออกสู่วงการโหราศาสตร์ไทยและสาธารณชน ในลักษณะที่มิได้ปิดบังอำพราง ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา จึงเป็นบุคคลที่นักโหราศาสตร์ไทยให้ความเคารพ และยอมรับนับถือตลอดมา
๒) พระคัมภีร์สุริยยาตร์ศิวาคมของพ.อ.(พิเศษ)เอื้อน มณเฑียรทอง ซึ่งได้ประยุกต์จากสูตรโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของ พันตรีบุนนาค ทองเนียม บุคคลท่านแรกวงการโหราศาสตร์ไทยที่พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์โหราศาสตร์ระบบสุริยยาตรแลมานัตต์ และทำการสอนเผยแพร่ในการประกอบสูตรคำนวณดังกล่าวกับเครื่องจักรคำนวณขนาดเล็ก
๓) บทความเรื่องสุริยยาตร์วิเคราะห์ของ อ.มานิตย์ ธีระเวชชกุล ผู้ซึ่งทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดจนกระทั่งวารสุดท้ายในชีวิตในการศึกษาโหราศาสตร์ภาคคำนวณของไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีบทความวิชาการที่ทรงคุณค่ามากมาย โดยเป็นผู้พัฒนาสูตรคำนวณบนเครื่องคำนวณขนาดเล็กหรือป๊อกเก็ตคอมพิวเตอร์" ออกสู่วงการโหราศาสตร์ไทย ที่สามารถคำนวณดวงชะตาได้อย่างถูกต้อง และแม่นยำทั้งระบบสุริยยาตร์ไทย และดาราศาสตร์สากล ซึ่งสร้างความสะดวกให้แก่นักพยากรณ์อาชีพเป็นอย่างมาก โดยสูตรและวิธีคำนวณที่ผมได้ประยุกต์ขึ้นนั้น ได้ปรับเอาส่วนดีของคัมภีร์สุริยยาตรแลมานัตต์แต่ละฉบับข้างต้นมาใช้ และปรับปรุงให้คำนวณได้ง่ายขึ้น สะดวกรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ แต่คงลำดับขั้นตอน และเอกลักษณ์ของการคำนวณตามแบบคัมภีร์ดั่งเดิมเอาไว้ เพื่อใช้ในการศึกษาและอ้างอิงได้ภายหลัง โดยสามารถปรับค่าที่ได้จากการคำนวณในแต่ละขั้นตอน กลับสู่ขั้นตอนการคำนวณตามแบบคัมภีร์ดั่งเดิมได้ทันทีโดยคำนวณให้สามารถคำนวณได้ถึงวินาทีเกิดจริงของเจ้าชะตา หรือ ณ เวลาที่ผู้ใช้ประสงค์จะทราบ(ซึ่งคัมภีร์ส่วนใหญ่คำนวณเพียงระดับชั่วโมง-นาที เท่านั้น)และในช่วงเวลาต่อมา ได้ทำการทดสอบสูตรดังกล่าวจนแน่ใจในความถูกต้อง จึงได้พัฒนาโปรแกรม Suriyayatra ที่มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านการคำนวณตำแหน่งของดาวพระเคราะห์และลัคนา รวมถึงการคำนวณปัจจัยการพยากรณ์ตามหลักวิชาโหราศาสตร์ไทยเพื่อให้พร้อมใช้งานมากที่สุด ตลอดจนพยายามจัดรูปแบบมุมมองที่ปรากฏแก่ผู้ใช้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ( Graphic User Interface) ของโปรแกรมให้ใช้งานได้ง่าย สะดวก และเพียงพอต่อการพยากรณ์ในหน้าจอหนึ่งเดียว ทั้งผู้จัดทำได้พยายามให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากที่สุด โดยการให้ผู้ใช้โปรแกรมสามารถเลือกรูปแบบการคำนวณ และการแสดงผลตามแบบที่เหมาะสมของแต่ละท่าน โดยไม่บังคับรูปแบบการคำนวณในหลายๆส่วน ให้เป็นไปตามความคิดของผู้จัดทำเพียงฝ่ายเดียว เนื่องจากการพยากรณ์ในวิชาโหราศาสตร์ไทยนั้นมีหลายระบบ ต่างวิธีการศึกษาและได้ศึกษาเพิ่มเติม ในวิชาดารา-โหราศาสตร์กับท่าน อ.อารี สวัสดี เมื่อปี พ.ศ.2547 |