มฤตยู (ยูเรนัส) เทพเจ้าแห่งความเดียงสาหรืออัจฉริยะ และ จิตอิสระเสรีอันปลดแอกพันธนาการ
ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอเท้าความถึง คำที่ว่า ทายอาเพศให้ทายมฤตยู ซึ่งอันนี้ถือว่าอัยการได้เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง ยูเรนัสต่อศาลโหราฯ เมื่อถูกยื่นฟ้องเช่นนี้ข้าพเจ้าในฐานะวิปฝ่ายแค้น ก็จะลองมาเป็นทนายฝ่ายจำเลยดูสักตั้ง
เมื่อเจอโจทย์ว่า มฤตยูนั้นแสดงถึงอาเพศ ก็ต้องมาแปลคำว่า อาเพศ กันก่อนเพื่อเข้าใจในโจทย์ที่ตั้งฟ้องกัน อาเพศ นั้นตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน นั้นให้ความหมายว่า ให้เป็นไปเอง , ปรวนแปรไป ,เกิดขึ้นอย่าผิดปกติ
เมื่อทราบความดังนี้แล้ว เป็นคำที่โบราณใช้กันมาย่อมหมายถึง มฤตยู แสดงอำนาจออกมาด้วยการ ปรวนแปรไป และ เกิดขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งมาถึงยุคสมัยนี้เรื่องพวกนี้เรารับได้ทันแล้ว ซึ่งแตกต่างกับเมื่อสมัย 120 60 ปีที่แล้วซึ่งการเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างฉับพลันไม่ว่าจะเป็นวิทยาการ เทคโนโลยี่ เป็นอะไรที่มักจะรับกันไม่ทัน แต่ลองปรับเปลี่ยนมาในโลกปัจจุบันเรื่องเช่นนี้จึงเป็นเรื่องธรรมดาไป นี่เองเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าต้องมาเป็นทนายฝ่ายจำเลย เพราะข้าพเจ้ามีทัศนะว่า ดาวทุกดวงมีด้านดี ด้านร้าย เป็นทวิธรรมด้วยกันทั้งสิ้น จะปรักปรำว่า มฤตยู ร้ายแต่อย่างเดียวเห็นเป็นการไม่สมควร ถ้าเปรียบดั่ง มฤตยู เป็นจำเลยซึ่งถูกจับในข้อหาฆ่าคนตาย หรือ กรณีอื่น เราก็ต้องมาไต่สวนคดีกันหาหลักฐาน ว่าเขาเป็นผู้กระทำการฆ่าจริงหรือ? หรือเป็นแค่ผู้ร่วมกระทำแต่ไม่ได้ฆ่า? หรือไม่ได้กระทำคดีนั้นเลยเป็นเพียงแต่ผู้ต้องสงสัย? จึงอยากให้ท่านทั้งหลายให้ความเป็นธรรมแก่ มฤตยู ด้วยว่าเรื่องอาเพศที่ว่า เกิดได้เพราะปฏิกิริยาเช่นไร มีมูลเหตุจากอะไร เพราะอะไร และ ผลเป็นเช่นไร
เอาละครับเมื่อทำความเข้าใจกันแล้ว เพื่อไม่ให้เข้าใจกันผิดเหมือนอย่างบางท่านเคยกล่าวไว้ว่า มฤตยูกุมลัคน์ผู้ใดแล้ว ผู้นั้นมักเป็นคนขี้โรคถ้าเขาผู้นั้นเป็นคนฉลาด จะทำให้อายุยืนถ้าเขาผู้นั้นเป็นคนโง่ ข้าพเจ้าอ่านแล้วรู้สึกน่าขันเสียนี่กระไร มฤตยูกุมลัคน์ต้องยอมเป็นคนโง่หรืออย่างไรเพื่อแลกกับความมีอายุยืน หรือ ถ้าอยากฉลาดอยากเก่งต้องแลกด้วยการเป็นโรคเรื้อรัง หรือ อายุสั้น อันนี้ขอให้ปัญญาชนพึงสดับและพิจารณาเอาเถิดว่าสมควรหรือที่จะกล่าวหาแต่ มฤตยู เพียงดวงเดียวเท่านั้น อย่าพึงตอบแบบกำปั้นทุบดินอีกเลย
เรารู้จัก มฤตยู หรือ ยูเรนัส กันเมื่อไร ก็เมื่อใกล้สิ้นสุดฤดูหนาวในปี ค.ศ. 1781 ซึ่งมีนัก ดนตรีชาวเยอรมัน ซึ่งต่อมาได้เป็นนักดาราศาสตร์หลวงของอังกฤษ นามว่า William Herschel เป็นผู้ได้ค้นพบดาวดวงนี้เป็นคนแรก(ในยุคใหม่นี้) โดยตอนแรกเขาเข้าใจว่ายูเรนัสนี้เป็นดาวหางดวงหนึ่ง แต่ต่อมาได้สำรวจเพิ่มเติมขึ้นก็ปรากฏว่าดาวดวงนี้หาใช่ดาวหางไม่ แต่เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจาก ดวงอาทิตย์ประมาณ 2 เท่าของดาวเสาร์ จึงได้ถูกตั้งนามให้ว่า ยูเรนัส หรือ เฮอร์เชล ซึ่งเป็นนามที่ให้เกียรติผู้ค้นพบ
แล้วนักโหราศาสตร์ชาติตะวันตกก็เริ่มนำ ยูเรนัส มาศึกษาและนำมาใช้ในศาสตร์นี้ จนได้แพร่หลายเข้ามาสู่สยามประเทศ และในราวสมัยรัชกาลที่ ๓-๔ แล้วจึงปรากฏออกมาอย่างชัดเจน โดย นายมี หรือ หมื่นสมพัตสร หรือ ที่เรารู้จักเขาจากจิตรกรรมฝาพนังวันพระแก้วว่า นายมีลงกาใหม่ ซึ่งนายมีนั้นเป็นบุตรพระโหราธิบดีชุม จึงต้องจัดว่านายมีนั้นต้องมีความรู้ทางโหราศาสตร์บ้างไม่มากก็น้อย และเป็นผู้อาจหาญนำมฤตยูมาเริ่มใช้ในโหราศาสตร์ไทย จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน และจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ 10 โดยใช้สัญลักษณ์ แทนด้วย ๐ มาจนจวบทุกวันนี้
แต่ตามทัศนะของข้าพเจ้าต้องกล่าวชม บรรพจารย์โหราทั้งหลาย ท่านนั้นปราดเปรื่องยิ่งนัก ที่แบ่งพระเคราะห์เป็นภาคกลางวันและกลางคืนจนได้สมดุล และยังแบ่งเรือนได้สมดุลอีกเช่นกัน คือ ตนุ-ปัตนิ , กดุมภะ-มรณะ , สหัชชะ-ศุภะ , พันธุ-กัมมะ , ปุตตะ-ลาภะ และ อริ-วินาสน์ ท่านได้จัดคู่ไว้ได้สมดุลยิ่งฝั่งหนึ่งเกิดจากเป็นผู้กระทำ(หยาง) อันหนึ่งเกิดจากการเป็นผู้ถูกกระทำ(อิน) พึงนำไปคิดดูเถิดที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้สมดุลจริงหรือไม่ อาทิ ตัวเรา กับ ฝั่งตรงข้าม , การได้มา กับ การจากไป , การช่วยเหลือ กับ การอุปถัมภ์ , ทุนกำเนิด กับ ทุนที่ต้องทำใหม่ , ความสุขจากภายใน กับ ความสุขจากภายนอก และ การแก้ไขอุปสรรคปัญหาได้ กับ การแก้ไขปัญหาอุปสรรคไม่ได้ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างง่ายๆ พึงนำไปวิเคราะห์เองเถิดถึงสมดุลนี้ เมื่อเห็นแล้วว่าทุกอย่างมีสมดุลในตัวมันเอง ฉะนั้น มฤตยู ก็ย่อมมีสมดุล ในตัวของมันเองเช่นกัน จะกล่าวว่ามันเลวร้ายฝ่ายเดียวจึงไม่ใคร่จะถูกนัก ความดีมันก็มี ความร้ายมันก็มี เพียงแต่เรารู้จักที่จะหยิบมาใช้ แล้วปรับมันให้สมดุล
ต่อไปนี้ข้าพเจ้า ขออ้างอิงถึงบทความของ ท่านซิเซโร สักหน่อยเพื่อความเข้าใจในความหมายของคำว่า อาเพศ ที่โหราศาสตร์ไทยนำมาใช้ว่ามีที่มาจาก ตะวันตกว่าเช่นไร? ซึ่งมีการใช้กันอยู่ 2 คำ คือ Originality กับคำว่า Eccentricity จึงแยกนิยามออกเป็นดังนี้ :-
Originality อันหมายถึง :-
(1) Having to do with an origin ; initial : first ; earliest
การกระทำอันเกิดขึ้นมาเอง ( ชนิดไม่ได้เอาอย่างใคร ) ด้วยการริเริ่มของตัวเอง , เป็นคนแรก , ก่อนคนอื่น
(2) Never having occurred or existed ; not copled ; fresh ; new ; novel
ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน หรือ ได้เป็นได้มีอยู่ก่อน , ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร เป็นผู้บุกเบิก
(3) Capable of or given to inventing of creating something new ; or thinking or acting in an independent ; fresn way.
สามารถที่จะกระทำ หรือ ให้มีการประดิษฐ์ หรือ สร้างสรรค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือ การมีความคิดและการกระทำในลักษณะอิสระเสรีเป็นเอกเทศไม่ขึ้นแก่ใคร เป็นตัวของตัวเองโดยมีวิถีทางอันไม่ซ้ำแบบคนอื่น
(4) A person of original mind , character , or behavior.
บุคคลที่มีจิตใจ , บุคลิกลักษณะ หรือ นิสัยสันดาน ที่ตัวเป็นผู้กำหนดขึ้น หรือ ให้มันเกิดขึ้นเองโดยไม่ยอมเอาอย่างใคร
Eccentricity หมายถึง :-
(1) The state quality or amount of being off center or not concentric
สถานะ คุณภาพ หรือ จำนวนที่หลุดออกไปจากจุดศูนย์กลาง หรือไม่ซ้อนซับกันอยู่
(2) Deviation from circular shape
การแฉเชือนหันเหไปจากรูปร่างอันที่เป็นวงกลม
(3) Deviation from what is ordinary or customary ; as in conductor , manner , oddity ] percularity ] whimsicality.
การเฉเชือน ออกไปจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นสิ่งปกติที่เคยเป็นมา หรือ จากขนบประเพณีที่มีอยู่เดิม , ลักษณะที่พิเศษที่ผิดไปจากคนอื่น , ลักษณะอาการชอบกลที่ผู้อื่นตามไม่ทัน , ลักษณะที่ไปเป็นไปตามธรรมเนียมประเพณี
นี่แหละครับที่ข้าพเจ้ายกบทความที่ ท่านซิเซโร เขียนไว้ ซึ่งก็ท่านผู้นี้ก็เป็นท่านหนึ่งที่หลายท่านชื่นชอบและไม่ชอบ ในบทความของเขา แต่ข้าพเจ้าก็ยังเห็นว่า คนเรานั้นจะเก่งไปทุกเรื่องย่อมเป็นไปไม่ได้ มนุษย์เรามีมุมที่เก่งแตกต่างกันออกไป อย่าพึงปิดกั้นทัศนะผู้อื่น เพียงแค่ทัศนะมุมมองเขาไม่ตรงกับทัศนะของเราเลย จงเปิดใจรับสรรพสิ่งเข้ามาด้วยใจที่เป็นกลาง แล้ว กลั่นกรองนำสิ่งดีๆ นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเทอญ
ข้าพเจ้ายกบทความมาเช่นนี้ ก็เพียงแค่ขยายความหมาย ที่ชาติตะวันตกได้ กล่าวถึงยูเรนัสไว้ แล้วที่เรานำมาบัญญัติคำใช้ว่า อาเพศ นั้นมีที่มาว่าเช่นไร สอดคล้องกันหรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้มองยูเรนัสเพียงแต่มุมเดียว และเพื่อการวิเคราะห์วิจารณ์ดาวดวงนี้กันต่อไป แล้วข้าพเจ้าจะนำบทความมาโพสให้แก่ผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับดาวดวงนี้จริงจัง และ เพิ่มเติมทุกสัปดาห์ ถ้าสนใจข้าพเจ้าจะโพสอยู่ในกระทู้นี้เป็นหลัก เพราะข้าพเจ้าได้จั่วหัวกระทู้ไว้นานแล้วว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับมฤตยูโดยตรง ดาวอื่นยังไม่นำมาเกี่ยวข้อง
ผู้แสดงความคิดเห็น ตาบอดส่องตะเกียง ( ) วันที่ 21 10 2004 22:15
มฤตยู เป็นดาวเคราะห์ที่ครอบงำความนึกคิดและสติปัญญา เช่นเดียวกับดาวพุธ มักเกิดจากสัญชาตญาณและความคิดฝันอันกำเนิดจากภาวะจิตส่วนลึก เป็นแรงบันดาลใจที่เข้าใจได้ยาก อันแฝงไปด้วยจิตวิญญาณอิสระเสรี โดดเด่นแปลกใหม่ และมฤตยูมักกระทำอะไรไม่ว่าทางที่ดีหรือร้าย ก็จะมักกระทำด้วยความรวดเร็วไม่ยืดยาด
โหราศาสตร์สากลจัดให้เป็นดาวพระเคราะห์ครองเกษตรราศีกุมภ์ ซึ่งเป็นธาตุลม อันหมายถึงการปรับปรุงตัว และการผสมผสานกลมกลืน ฉะนั้นมฤตยูในดวงชะตาของบุคคลจึงทำให้เจ้าชะตารู้เท่าทันความเสื่อมจริงของภพนั้น เป็นญาณหยั่งรู้ที่สามารถปรับตัวรับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที
โดยเหตุที่มฤตยู เป็นพระเคราะห์ที่ถือความฝันและอุดมคติของตนเองเป็นหลัก ไม่ยอมตกเป็นทาสใคร มีความหยิ่งและความเชื่อมั่นในตัวเองมากนี้เอง ในมุมที่ร้ายเมื่อมฤตยูในดวงชะตานั้นเสื่อม มีมุมสัมพันธ์ที่ร้ายกับลัคนา มฤตยูก็มักจะให้โทษรุนแรงและฉับไว้ ถ้าทำมุมดีก็มักจะให้คุณอย่างรวดเร็วฉับไวเช่นกัน
มฤตยู ก็เปรียบดั่งกระบี่ 2 คม ถ้ามฤตยูตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เสีย ขาดการเหนี่ยวรั้งจากศุภเคราะห์ หรือ ดาวที่หักล้างกันได้ มฤตยูก็แสดงพฤติกรรมในด้านลบออกมาอย่างทันที ความรักอิสระภาพก็จะกลายเป็นความดื้อรั้นอหังการไม่ยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์ใดๆ มักกร้าวร้าว รุกราน เพื่อความสำเร็จของตนเอง เป็นเสรีภาพที่เกินขอบเขตเพื่อจุดมุ่งหมายที่สูงสุด |