ยามเมื่อดาวเดินถอยหลัง 1
โดย Neemo
โหราสาร ประตูน้ำเซ็นเตอร์ชั้น 3 โทร 06-629-5245 ,09-120-5288
e-mail : tong8221613@yahoo.com
เมื่ออดีตกาลมนุษย์เราได้เฝ้ามองดวงดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืน พบว่าดาวหลายดวงที่เฝ้ามองดูอยู่ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อมาเราได้เรียกมันว่าดาวเคราะห์ อยากให้ลองนึกจินตนาการดูว่าผู้ที่เฝ้ามองดูอยู่จะรู้สึกประหลาดใจมากแค่ไหนที่พบว่าดวงดาวเหล่านั้นค่อยๆเคลื่อนไหวช้าลงเรื่อยๆ และจนถึงกับหยุดอยู่นิ่งกับที่ และเริ่มโคจรถอยหลังแล้วก็หยุดลงอีกครั้งก่อนที่มันจะเริ่มโคจรเดินไปข้างหน้าตามปกติ
ดาวบางดวงที่เรากำลังเฝ้าดูอยู่นั้นได้แสดงปรากฏการณ์ประหลาดนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่าในแต่ละปี แต่ก็มีบางดวงก็สร้างปรากฏการณ์ประหลาดนี้อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ 2 ปี แต่ก็น่าแปลกใจว่าดวงดาวเหล่านั้นมิได้แสดงปรากฏการณ์ประหลาดนี้ในจุดเดิมที่เคยปรากฏในแต่ละปี ซึ่งจะมีเพียงแต่พระอาทิตย์กับพระจันทร์เท่านั้นที่ไม่เคยแสดงปรากฏการณ์เหล่านี้ให้พบเห็นเลย แต่ยังคงแสดงปรากฏการณ์ในการโคจรไปในทิศทางเดียวเท่านั้น
ในขณะที่สมัยนั้น ผู้ที่คอยสังเกตุการณ์ของท้องฟ้าในยามค่ำคืนก็ไม่เคยได้รู้ถึงเหตุผลในการเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว และก็ไม่ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของปรากฎการณ์นั้นที่มีต่อโชคชะตาและอุปนิสัยใจคอของมนุษย์
เมื่อขณะที่เกิดปรากฏการณ์ดวงดาวถอยหลัง ซึ่งที่ทางโหราศาสตร์ไทยเราเรียกว่าพักร์นั้น (Retrograde motion) เราอาจศึกษาได้โดยแบ่งเป็น หลายแนวทางคือ
อันดับแรกคือ กฏเกณฑ์เฉพาะของดาวที่มีการพักร์ในชาตากำเนิด ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในชาตากำเนิดรวมถึงอุปนิสัยใจคอไม่ว่าจะดีหรือชั่วและแม้แต่ความมีกิเลสตัณหา โลภ โกรธ หลง ของเจ้าชาตา ซึ่งนักโหราศาสตร์ที่มีประสบการณ์บางท่านมักจะพิจารณาดาวที่มีการพักร์หลายๆดวงในชาตากำเนิดเป็นพิเศษ ซึ่งบางคนไม่มี แต่บางคนก็มีหนึ่งหรือหลายๆดวง ในชาตากำเนิด ซึ่งในทางพยากรณ์ก็มีหลายๆแนวทาง ในการถอดคำพยากรณ์ออกมา แต่ก็ยังไม่สามารถระบุชัดในอิทธิพลของดาวพักร์ได้ชัดเจนเท่าใดนัก ก่อนอื่นเพื่อที่จะคำตอบ เราอาจจะต้องศึกษาวิถีทางการโคจรของดาวพักร์และการเกิดอุบัติการณ์ในแต่ละครั้งให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยอาจตั้งสมมุติฐานและการอนุมานจากผลที่ปรากฏบนแผนที่จักราศี แล้วนำมาประมวลผลโดยใช้การวิเคราะห์จากสถิติที่เราบันทึกถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดจากอิทธิพลของมัน ว่ามันส่งผลอะไรกันแน่ ขัดแย้งหรือส่งเสริมกันอย่างไรในชาตากำเนิดและชาตาจร
โดยเราจะลองทำการกำหนดเงื่อนไขของดาวที่ทำการพักร์ เพื่อทดสอบข้อสมมุติฐานอันนี้โดยจะใช้ดาวที่สามารถแสดงปรากฏการณ์ที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้ ซึ่งเราจะใช้ดาวพฤหัสที่แสดงปรากฎการณ์พักร์ถอยในปี พ.ศ. 2540เป็นตัวอย่าง ซึ่งปีนั้นประมาณต้นปีดาวพฤหัสได้โคจรไปข้างหน้าในอัตรา 14 ลิปดาต่อวันหลังจากนั้นก็เริ่มถอยองศาลดลงเฉลี่ยเป็น 13 ลิปดาต่อวัน ต่อมาในวันที่ 1เมษายน 2540 ก็เหลือเพียง 11 ลิปดาต่อวันและเมื่อวันที่ 30 มษายน ก็เหลือเพียง 8 ลิปดาต่อวันเท่านั้น พอถึงพฤษภาคม สามารถมองเห็นดาวพฤหัสได้อย่างชัดเจนจากพื้นโลก ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการโคจรที่ลดลงด้วยเช่นกัน ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ดาวพฤหัสสถิตย์ในราศีกุมภ์ประมาณ 21 องศาตามระบบสายนะ และก็ค่อยๆโคจรช้าลงโดยลดองศาลงอย่างต่อเนื่องเป็น 3 ลิปดา 2 ลิปดา จนเหลือเพียง 1 ลิปดาต่อวัน เพียง 5 วันดาวพฤหัสก็ดูเหมือนว่าจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ณ.องศาที่ 21และ 56 ลิปดาในราศีกุมภ์ จุดศูนย์กลางในการหยุดนิ่งอยู่กับที่คือวันที่ 10 มิถุนายน 2540 ซึ่งเราเรียกสถานะนี้ว่ามนฑ์(Stationary Retrograde ) (SRx) หลังจากนั้นดาวพฤหัสก็เริ่มทำการถอยหลัง จนกระทั่งหยุดนิ่งกับที่หรือมนฑ์อีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม
ซึ่งในครั้งนี้เป็นการหยุดนิ่งครั้งที่ 2 แล้วก็จะทำการเดินหน้าอีกครั้ง ซึ่งในการหยุดนิ่งครั้งนี้เพื่อที่เดินหน้าต่อเราเรียกว่าเสริดหรือ Stationary direct (SD) ดังนั้นเราจะพบว่าดาวพฤหัสสร้างจุดทรรศนสัมพันธ์บนเส้นทางโคจรครั้งที่สองในจุด12องศา5ลิปดาในราศีกุมภ์ในวันที่ 8 ตุลาคมเพื่อที่จะเดินหน้าต่อ สุดท้ายเราจะพบว่าดาวพฤหัสโคจรผ่านจุดแรกที่เริ่มมนฑ์และทำการถอยพักร์จนถึงจุดสุดท้ายที่เริ่มเสริดพร้อมที่จะโคจรไปข้างหน้า ดังนั้นในช่วงของจักรราศีที่วิถีโคจรของดาวพฤหัสที่ทำระหว่างจุดทั้งสองเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางโหราศาสตร์เพราะเป็นส่วนที่ดาวพฤหัสโคจรซ้ำในที่เดิมถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการโคจรไปข้างหน้าตามปรกติ ครั้งที่สองคือการโคจรพักร์ถอยหลัง และครั้งที่สามคือการโคจรเสริดเพื่อเดินหน้าในเส้นทางเดิมที่ถอยหลังมา และเมื่อดาวพฤหัสได้ทำการโคจรครบรอบของการพักร์แล้ว ระยะช่วง 12องศาจนถึง 21 องศา ในราศีกุมภ์ที่ซึ่งดาวพฤหัสได้ทำการโคจรซ้ำๆถึง 3 ครั้ง และหากใครคนใดคนหนึ่งมีดาวดวงใดสถิตย์อยู่ในช่วงระหว่างนี้ในดวงชาตากำเนิด ก็จะได้รับผลอันใหญ่ยิ่งและรุนแรงจากดาวพฤหัสไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ดังนั้นหากใครมีดาวที่เป็นมิตรกับดาวพฤหัส(และในพื้นดวงเดิมดาวพฤหัสอยู่ในสถานะที่ให้คุณ)สถิตย์อยู่ในช่วงระยะองศาดังกล่าว ก็อาจกล่าวได้ว่าช่วงในปีนั้นเป็นช่วงที่ให้คุณแก่เจ้าชาตาอย่างมากมายมหาศาล
ตัวอย่างที่นำให้ศึกษานี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งซึ่งอยากให้นักศึกษาโหราศาสตร์ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ ซึ่งตามตัวอย่างของดาวพฤหัสทำการพักร์ถอยตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนตุลาคม จะพบว่าบางคนรู้สึกแปลกใจว่าเหตุการณ์ต่างๆที่เคยเกิดขึ้นก่อนการพักร์กลับเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งในระหว่างดาวดวงนั้นเสริดกลับมาที่เดิม ซึ่งผู้เขียนเคยนำไปประยุกต์ใช้กับดวงดาวอื่นๆเช่าเสาร์และอังคาร ก็ปรากฏผลเช่นเดียวกัน เช่นมีเพื่อนของผู้เขียนท่านหนึ่งทำการผ่าตัดระหว่างดาวอังคารพักร์ และเมื่อดาวอังคารเดินหน้าตามปรกติก็ได้กลับไปผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง
ทีนี้เราลองมาพิจารณาเรื่องของอิทธิพลของการซ้ำรอยของดาวพฤหัสที่ทำการพักร์ ในปี 2540 จาก 21 องศาในราศีกุมภ์ถอยจนถึง 12 องศาในราศีเดียวกัน และจะทำการโคจรซ้ำไปข้างหน้าเมื่อดาวพฤหัสสถิตย์ที่ 12 องศา 05 ลิปดา ของราศีกุมภ์ในวันที่ 14 เมษายน ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2เดือนเต็มก่อนที่จะสถิตย์ในจุดที่ 21 องศา ซึ่งในช่วงเวลาระหว่าง 14 เมษาถึง 10 มิถุนา อาจกล่าวได้ว่าเส้นทางโคจรของดาวพฤหัสกำลังอยู่ในอิทธิพลของการซ้ำรอย เพราะเนื่องจากว่ามันกำลังเตรียมพร้อมที่จะโคจรถอยกลับสู่เส้นทางเดิมเมื่อทำการพักร์
เมื่อดาวพฤหัสทำการเสริดเดินหน้าอีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม ณ.องศาที่ 12.05 ลิปดา และเริ่มเดินหน้ากลับไปในจุด 21.56 องศาอีกครั้งซึ่งกว่าจะถึงจุดเดิมนั้น ก็เป็นวันที่ 13 ธันวาคม 2540 ในการเดินทางกลับครั้งสุดท้ายนี้ดาวพฤหัสก็ยังคงอยู่ในอิทธิพลของการซ้ำรอยอีก
ผลจากอิทธิพลของการซ้ำรอยนี้ มักจะถูกมองข้ามจากนักโหราศาสตร์บางคนที่มัวแต่ใช้ซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์คำนวณดวงชาตาเป็นหลัก ซึ่งมิได้สังเกตุเห็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอันนี้เพื่อการประเมินคุณภาพดาวเคราะห์ว่าบริสุทธิ์หรือไม่ หรือกำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลอื่น
ในฉบับหน้าเราจะมาพิจารณาถึงอิทธิพลของดาวพักร์กันต่อ โดยจะพิจารณาแยกออกมาทีละดวงว่าส่งผลให้ชาตาชีวิตอย่างไรและเป็นกรณีศึกษากันต่อไป