เรื่องการตัดเวลาท้องถิ่นทำให้มีการปฏิบัติกันหลากหลาย ทำให้เกิดมี "วิธี" ในการหาลัคนาเกิดขึ้น "หลายอย่าง" ทั้งๆที่ การคำนวณหาลัคนา(โดยใช้อันโตนาทีสุริยยาตร์) ควรจะมีวิธีเดียว เช่น
เมื่อได้เวลาเกิดมาแล้ว นำเอาเวลาเกิด มาหาลัคนา มีอยู่ 2 แนวทาง โดย
1. เอาเวลาเกิดตั้ง แล้วเอาตัวปรับแก้ลบ เช่น ลบ 18 นาที สำหรับ กทม หรือ ลบ 24 นาที สำหรับ เชียงใหม่ แล้วเอาเวลานั้น ไปหาลัคนา
หรือมิฉะนั้น
2. เอาเวลาเกิด ไม่ต้องลบ นำเอาเวลานั้น ไปหาลัคนาเลย
ฝ่ายที่ทำข้อ 1 ก็ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปีพ.ศ. 2463 กำหนดให้ประเทศไทย ใช้เวลาเหมือนกันทั้งประเทศ โดยตั้งเวลามาตรฐาน ณ เส้นแวง 105 องศาตะวันออก มีผลให้จังหวัดที่อยู่ทางทิศตะวันตกของ 105 องศา ต้องปรับเวลาเลื่อนเร็วขึ้น (ในปี 2463 นั้น) เช่น กทม. อยู่ที่ 100 องศา 30 ลิปดา ก็ปรับเลื่อนเวลาเร็วขึ้น 18 นาที ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็ปรับแก้เป็นสัดส่วนกันไปตาม ตำแหน่งเส้นแวงที่อยู่
ก็เลยนำเหตุนั้น มาใช้เป็นเหตุผลเมื่อหาลัคนา ก็ควรจะปรับเวลาลดลงไปตามเดิม เพื่อให้ได้เวลาจริง ณ จังหวัดเกิด แต่ที่จริง การให้เหตุผลนั้น โดยมากจะทำเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ลองมาดูว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
สำหรับ ผู้ที่ใช้แผ่นหมุน คือ ตั้งองศาอาทิตย์ขึ้นตอน 6 โมง(ปกติ จะหาโดยการเอาองศาอาทิตย์ในปฏิทินคืนก่อนหน้าวันเกิดตั้ง แล้วเอา 15 ลิปดาบวก) แล้วก็ดูเวลาไปตามแผ่น แล้วก็เทียบเป็น ราศี องศา ตามที่เวลาตรงกันนั้น การคำนวณ ก็ต้อง นำเวลาเกิดมาลบออกจากเวลาอาทิตย์ขึ้น จากนั้น ก็นำ องศาอาทิตย์ขึ้น มาหา อันโตนาทีอดีต อนาคต ฯลฯ จะเห็นว่า มีเรื่องของเวลาอาทิตย์ขึ้น เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในเหตุผลข้างต้น กลับไม่มีการกล่าวถึงในเรื่องนี้เลย สำหรับ ผู้ที่ใช้แผ่นหมุน ตั้งองศาอาทิตย์ขึ้น ที่เลข 6 คือการใช้อาทิตย์ ขึ้น 6 โมงเช้าทุกภูมิภาค (ทุกจังหวัด)
สรุปเป็นขั้นตอนการหาลัคนาที่คนส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน(แต่ไม่ถูก) ดังนี้
1. ลบ 18 นาที ออกจากเวลาเกิด 2. ตั้งองศาอาทิตย์ขึ้น (โดยบวก 15 ลิปดาจากองศาอาทิตย์ตอน 24:00 น. ในปฏิทิน) ที่ 6 น.ในจานหมุน 3. ดูว่า เวลาเกิดตรงกับราศีอะไร กี่องศาในจานหมุน
สำหรับ ผู้ที่ใช้การคำนวณหาลัคนา จะต้องดูด้วย ว่า เวลาอาทิตย์ขึ้น ที่นำมาใช้นั้น เป็นเวลาอาทิตย์ขึ้น ท้องถิ่น หรือ เป็นเวลามาตรฐาน และหากใช้เวลาอาทิตย์ขึ้น จะต้องแน่ใจว่า เป็นเวลาอาทิตย์ขึ้น ณ จังหวัดนั้นจริง คือ คิดจากเส้นรุ้งและเส้นแวง มิใช่เพียงแค่เอาเวลาอาทิตย์ขึ้นที่ท่าเรือ แล้วแปลงเวลามาเป็นเวลาจังหวัดนั้น เช่น หน้าหนาว พระอาทิตย์โคจรปัดใต้ จังหวัดทางใต้ เช่น นราธิวาส จะต้องเห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนจังหวัดทาง ตะวันออกเช่น จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น
หากเวลาอาทิตย์ขึ้นนั้น เป็นเวลาท้องถิ่น ให้ตรวจดูก่อนว่าเวลานั้นคือเวลาอะไร
เวลาอาทิตย์อุทัย (เวลาอาทิตย์ขึ้น)
1. เกิดจากเอาเวลาอาทิตย์ขึ้นที่เป็นเวลามาตรฐาน นำมาลบตัวปรับแก้เวลาแบบเดียวกันกับ การปรับแก้เวลาเกิด ที่ได้อธิบายไปข้างต้น อันนี้ ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริงที่สุด หรือ
2. เป็นเวลาอาทิตย์ขึ้น ณ จังหวัดที่เกิดจริง จากการบันทึก สำรวจ เช่น เมื่ออาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า ก็ดูนาฬิกาที่ข้อมือ แล้ว จดบันทึกลงไป แต่การทำแบบนี้ จะต้องรู้ด้วยว่า
เวลานาฬิกานั้น เป็นเวลามาตรฐาน ไม่ใช่เวลาท้องถิ่น
- การเห็นขอบดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นมานั้น ไม่ใช่ สิ่งที่ใช้ในการคำนวณสุริยยาตร์ ซึ่งใช้จุดคำนวณ ณ จุดศูนย์กลางของดาว (คิดดาวเป็นจุดๆ เดียว) ไม่ใช่ที่ขอบของดาว และการเห็นขอบของดวงอาทิตย์ จะผ่านการหักเหของแสงเนื่องจากชั้นบรรยากาศ รวมแล้ว ทำให้เวลาผิดไปประมาณ 3 นาที 40 กว่าวินาที และยังต้องหักเวลานาฬิกาเป็นเวลาท้องถิ่นอีกด้วย
3. เป็นเวลาอาทิตย์ขึ้น ณ จังหวัดที่เกิดจริง จากการคำนวณ โดยใช้เส้นรุ้งแวง ของสถานที่เกิด อันนี้ เวลาที่ได้เป็นเวลาท้องถิ่น
เช่น จากการคำนวณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2544 อาทิตย์ขึ้นที่ กทม. 6:35 น. (เวลามาตรฐาน) และ ขึ้นที่ เชียงใหม่ วันเดียวกัน เวลา 6:50 น. (เวลามาตรฐาน) จะเห็นว่า ที่เชียงใหม่ อาทิตย์ขึ้นช้ากว่า ที่กทม. 15 นาที อันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะ เชียงใหม่ อยู่ไปทางตะวันออกหรือ ตะวันตกของ กทม. เพราะเชียงใหม่ อยู่ที่ 98 องศา 59 ลิปดา ส่วน กทม.ที่ 100 องศา 30 ลิปดา ต่างกันแค่เพียง 1 องศา 31 ลิปดา เท่านั้นเอง ซึ่งจะเป็นเวลาต่างกันประมาณ 6 นาที แต่จากเวลาที่คำนวณข้างต้น เกิดจากการนำเอาตำแหน่งเส้นรุ้งมาคิดด้วย จึงทำให้เวลาต่างกันถึง 15 นาที (เชียงใหม่อยู่ที่เส้นรุ้ง 18 องศา 47 ลิปดาเหนือ ส่วนกทม.อยู่ที่เส้นรุ้น 13 องศา 46 ลิปดาเหนือ)
จะเห็นว่า การหาลัคนา จะเป็นการนำเอาเวลาต่างของเวลาเกิด กับ เวลาอาทิตย์ขึ้น มาแปลงเป็นองศาอาทิตย์ โดยการนำเอาเวลาเกิด ตั้ง เวลาอาทิตย์ขึ้นลบ
เวลาเกิด - เวลาอาทิตย์ขึ้น
ทั้งสองเวลา จะต้องเป็นเวลาประเภทเดียวกัน เช่น เวลาท้องถิ่น ก็ต้องท้องถิ่นเหมือนกัน เวลามาตรฐาน(นาฬิกา) ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน จึงจะมาลบกันได้
(เวลาเกิด-ตัวปรับแก้เวลาให้เป็นเวลาท้องถิ่น) - (เวลาอาทิตย์ขึ้น-ตัวปรับแก้เวลาให้เป็นท้องถิ่น)
จะเห็นว่า ทั้งสองอันมีค่าเท่ากัน เพราะ ลบออกด้วยตัวเดียวกัน จึงมีค่าเท่ากันไม่ว่าจะปรับเป็นเวลาท้องถิ่นหรือไม่ปรับ จะต้องได้ค่าเท่าเดิม
สมมติ ผู้ที่เกิดตอน 6 โมงเช้า ลบออก 18 นาที จะเป็น 05:42 น. นำไปหาลัคนาตามขั้นตอนข้างต้น จะได้องศาน้อยกว่า องศาอาทิตย์ขึ้น ซึ่งเห็นชัดๆว่าไม่ถูกต้อง หากเกิด 6 โมงเช้าเวลาอาทิตย์ขึ้น ก็ต้องมีองศาลัคนา เท่ากับอาทิตย์นั้น
หากบอกว่า เกิด 06:18 น. เพื่อจะได้ลบแล้ว เป็นเวลา 6 โมงเช้าพอดี แสดงว่า อาทิตย์ขึ้นตอน 06:18 น. ไม่ใช่ 6 โมงเช้า หรือ มิฉนั้น ก็ต้องบอกว่า 6 โมงเช้าที่อาทิตย์ขึ้นนี้ เป็นเวลาท้องถิ่น มิใช่เวลามาตรฐาน ด้วยเหตุผลในเรื่องเวลาจะต้องเป็นชนิดเดียวกัน ตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และหากจะพูดว่าอาทิตย์ขึ้นเมื่อไร ก็ต้องตอบว่า 06:18 น. ครับ ตามเวลากทม. ไม่ใช่บอกว่า ขึ้นเวลา 6 โมงเช้า เพราะนั่นไม่ใช่เวลานาฬิกา แต่เป็นเวลาท้องถิ่น |